วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พันธุ์สุนัข

1.โกลเด้น รีทรีฟเวอร์



จากสีขนที่เหลืองเป็นสีทองไปทั้งตัว ประกอบกับใบหน้ากว้างและดูปราดเปรียวแล้ว ลักษณะทุกอย่างของสุนัขพันธุ์นี้ส่อให้เห็นถึงท่าทีอันสุภาพเป็นมิตร สุนัขพันธุ์นี้จึงเป็นที่นิยมไปทั่วทุกมุมโลก รูปร่างอันงดงามของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์นั้นใช่ว่าจะสวยแต่รูปก็หาไม่ ความสามารถของมันนั้นไม่เบา ไม่แพ้พันธุ์เก็บนกชนิดอื่นๆ หรือพวกพันธุ์สแปเนี่ยลตัวเป้งๆ ในระหว่างฤดูหนาวของแคนาดาซึ่งหนาวใช่ย่อย มันก็ยังลุยเก็บนกเป็ดน้ำได้อย่างสบาย



โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขขนาดใหญ่ที่มีความคล่องตัวสูง เป็นสุนัขที่มีความเฉลียวฉลาดมากมากจนสามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีขนาดไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป จัดว่าเป็นสุนัขที่มีประสาทสัมผัสดีเลิศทั้งในด้านของการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย นอกจากนี้ยังมีสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำ ด้วยเหตุนี้วงการทหารและตำรวจในหลายๆ ประเทศจึงได้นำสุนัขพันธุ์นี้มาฝึกเพื่อไว้ช่วยงานราชการ อาทิเช่น ตรวจค้นยาเสพติด, ดมกลิ่นสะกดรอยคนร้าย, ยามรักษาความปลอดภัย แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมสูงสุด ก็เห็นจะได้แก่ฝึกให้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอด ทั้งนี้เพราะโกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขซึ่งฉลาด แต่ไม่ค่อยเจ้าเล่ห์หรือซุกซนเหมือนสุนัขบางพันธุ์



เจ้าสีทองพันธุ์นี้ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองอังกฤษในทศวรรษที่ 1860 เป็นสุนัขที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขในกลุ่มสแปเนี่ยล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความเชี่ยวชาญทางน้ำเป็นพิเศษ โดยมีขนาดเล็กกว่าสุนัขพันธุ์นิวฟาวน์แลนด์ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน สันนิษฐานว่าอาจผสมข้ามพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ไอริชเซทเทอร์ และสุนัขในกลุ่มวอเตอร์สแปเนี่ยล โดยอาจมีสายเลือดของสุนัขพันธุ์บลัดฮาวน์เข้าไปเจือปนอยู่ด้วย



ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ ( YELLOW RETRIEVER ) ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1908 ก็ได้จัดให้มีการประกวดสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่คริสตัลพาเลซ และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้งชมรมสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ



สำหรับในสหรัฐอเมริกา โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในราวปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ไว้เพื่อเป็นนักล่า แม้ทางสมาคม AKC ของสหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองสุนัขพันธุ์นี้เข้าไว้ในทำเนียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับจากผู้เลี้ยงที่คิดอยากจะส่งสุนัขเข้าประกวดซักเท่าไหร่ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของการใช้งานมากกว่าการประกวด และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ทางสมาคม AKC ก็ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น



สำหรับในด้านของสายพันธุ์ ในยุคสมัยแรกๆ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์จะมีสีเฉพาะสีทองหรือสีน้ำตาลออกไปทางเหลือง ( ซึ่งก็มีด้วยกันหลายเฉด ) แต่พอมาในช่วงหลังๆ ก็ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ซึ่งสีนี้ก็เป็นสีที่นิยมมากพอสมควรทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นสีที่แปลกใหม่



มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : โครงสร้างได้สัดส่วน และดูแข็งแกร่งทรงพลัง เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ

เป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกๆ คน ดังนั้นจึงสามารถพาไปไหนมาไหนโดยไม่สร้างปัญหา มีความเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย เป็นสุนัขที่มีความปราดเปรียวและอดทน ลีลาในการย่างก้าวหรือไหวเป็นไปด้วยความนิ่มนวล



อุปนิสัย : มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ



ศีรษะ : กะโหลกใหญ่และกว้างโค้งได้รูปสวยงาม ไม่หยักเป็นร่องลึกหรือโหนกนูนจนมีลักษณะเป็นรูปโดม ช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหัก หรือเชื่อมต่อเป็นเส้นตรงเดียวกัน ใบหน้าลึกและกว้างขนาดพอๆ กับศีรษะ, สันจมูก, ปาก เป็นเส้นตรงเวลามองจากด้านข้างปลายจมูก ปากค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นรับกับขนาดของกะโหลกศีรษะ ลักษณะรูปทรงคล้ายลิ่มแลดูแข็งแกร่ง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ แต่ลักษณะของใบหน้าที่สวยงาม หนังบริเวณใบหน้าควรจะเรียบตึง



ฟัน : ต้องขบกันได้แนบสนิทเหมือนกรรไกร โดยฟันด้านหน้าแถวบนขบเกยอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะของฟันสำหรับสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีหน้าที่ในการเก็บหรือคาบเหยื่อ ดังนั้นอำนาจในการขบกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสุนัขมีฟันหน้าชุดบนและชุดล่างขบเสมอกันพอดีเหมือนประตูลิฟท์ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ยังพออนุโลมผ่อนผันให้ได้ เว้นแต่ฟันหน้าชุดล่างขบเกยอยู่ด้านนอก หรือฟันหน้าชุดบนและล่างขบเกยไม่สนิทกันถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง ถ้าฟันมีคราบหินปูนเกาะ ฟันผุ หรือฟันมีลักษณะเว้าแหว่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน



จมูก : จะต้องเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนจะเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับสีขน แต่ถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง



หู : หูควรสั้นพอประมาณ ใบหูมีลักษณะห้อยปกลงแนบกับส่วนแก้ม รูปทรงค่อนไปทางรูปสามเหลี่ยม ปลายมน เวลาดึงใบหูไปด้านหน้าความยาวของใบหู หูควรปกคลุมลูกตาได้พอดี แต่ถ้าหากฐานใบหูตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป หรือหูมีลักษณะเหมือนสุนัขในกลุ่มฮาวน์ หรือดัชชุน ถือเป็นข้อบกพร่อง



ลำคอ : ควรยาวพอประมาณ ลำคอควรตั้งบนหัวไหล่ แลดูมั่นคงกล้ามเนื้อแลเห็นเด่นชัด ขนบริเวณรอบคอห้ามมีการตกแต่ง คอต้องไม่มีเหนียงยื่นโผล่ออกมา



ลำตัว : โครงสร้างลำตัวกระชับได้สัดส่วน อกลึกและกว้าง ความกว้างของอกอย่างน้อยควรมีขนาดพอๆ กับ ฝ่ามือของผู้ชายวางทาบเสมอพอดี ส่วนความลึกของอกควรลึกเสมอข้อศอกขาหน้า กระดูกซี่โครงควรโค้งได้รูปแข็งแรง โดยส่วนแผ่นหลังจะแลดูหนากว่าใต้ท้อง ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีความลึกและหนาแลดูบึกบึน แผ่นหลังเรียบตรง โดยมีลักษณะลาดเทจากหัวไหล่ ไปทางบั้นท้ายเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเวลายืนนิ่งๆ หรือกำลังเคลื่อนไหว โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีหน้าอกเล็กแคบ อกตื้น เส้นหลังแอ่นหรือลาดเทมากเกินไป หรือก้นโด่ง ลำตัวบอบบางเกินไป เวลาเคลื่อนไหวเส้นหลังแกว่ง แลดูขาดความแข็งแกร่งล้วนเป็นข้อบกพร่อง



อุ้งเท้า : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปทรงกลม อุ้งเท้ากระชับ นิ้งเท้าไม่กางแบะออกเหมือนตีนเป็ด ขนบริเวณใต้อุ้งเท้าควรได้รับการขลิบออก เพื่อช่วยให้การยึดเกาะมั่นคงยิ่งขึ้น นิ้วติ่งขาหน้าควรกำจัดออกให้หมด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยปรากฏนิ้งติ่งให้เห็น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เวอร์ที่มีอุ้งเท้าแบะหรืออุ้งเท้าแหลมคล้ายอุ้งเท้าของกระต่าย ถือเป็นข้อบกพร่อง



หาง : ควรตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลัง หางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณโคนหางควรจะมีกล้ามเนื้อ ปกติหางจะมีลักษณะห้อยลงต่ำโค้งได้รูปกับสะโพก ความยาวของหางพอๆ กับมุมข้อศอกขาหลัง ในยามที่สุนัขที่ดีใจหางจะโบกสะบัดไปมา บางครั้งอาจงอม้วนขึ้นสูงเหนือระดับแผ่นหลัง



ลำตัวหน้า : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเหมาะสมรับกับลำตัวส่วนหลังขณะที่เดินหรือวิ่ง การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ การก้างย่างของขาอยู่ในแนวเดียวกับรัศมีของหัวไหล่ กระดูกขามีขนาดค่อนข้างใหญ่และเหยียดตรง กระดูกข้อเท้าสั้นและแข็งแรง มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย



ลำตัวหลัง : หนาและแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บั้นท้ายมีลักษณะลาดเทเล็กน้อย กระดูกขาท่อนบนทอดไปทางด้านหลัง ส่วนกระดูกขาท่อนล่างเหยียดตรงทำมุมฉากกับพื้น โดยขาท่อนล่าง(แข้ง)ยิ่งมีขนาดสั้นเท่าไหร่ย



ขน : ขนดกแน่น สามารถปกป้องน้ำได้เป็นอย่างดี ขนมี 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะยาวและมีลักษณะค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับหยาบกระด้าง เส้นขนมีความยืดหยุ่นในตัว ถ้าหากขนมีลักษณะเส้นเล็กหรือไม่ดกแน่นถือเป็นข้อบกพร่อง ลักษณะของขนที่ถูกต้องจะต้องขึ้นแนบติดลำตัว ส่วนเส้นขนจะเหยียดตรงหรือหยักศกเล็กน้อยไม่เป็นข้อบกพร่อง สำหรับขนบริเวณด้านหลังของขาและใต้ท้องจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าขนตามลำตัว โดยเฉพาะขนที่บริเวณใต้คอ ด้านหลังของต้นขาหลัง และขนใต้หาง จะมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ส่วนขนบริเวณศีรษะ ด้านหน้าของขา(หน้าแข้ง) และเท้าจะมีลักษณะสั้นและเรียบ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีเส้นขนยาวจนเกินไป ขนฟูเป็นกระเซิงไม่แนบติดกับลำตัว หรือมีขนเบาบางไม่ดกแน่น ขนเส้นเล็กล้วนถือเป็นข้อบกพร่อง การตัดแต่งขนจะตัดเฉพาะอุ้งเท้าเท่านั้น



สี : สีต้องเป็นสีน้ำตาลออกทอง ส่วนจะมีสีเข้มอ่อนไม่มีปัญหา ขนตามใบหน้าและลำตัวอาจจะมีเหลือบเทาหรือขาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นรอยแต้มด่างสีขาว หรือมีขนสีขาวขึ้นแซมถือเป็นข้อบกพร่อง ยกเว้นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีขนสีทองอ่อน ซึ่งมีสีจืดหรือจางมากๆ และสีขาวด่างที่ปรากฏแลดูกลมกลืนกับสีขน ก็ถือเป็นข้ออนุโลม และถ้าหากพื้นที่ของสีขนส่วนใหญ่มีสีซีดจางเกินไป หรือเข้มมากเกินไปก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ถามีขนออกไปทางโทนสีครีมอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลไหม้ ขนส่วนนี้จะต้องมีพื้นที่เป็นเพียงส่วนน้อยของขนทั้งหมด คือจะต้องมีโทนสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่ามาช่วยเสริม และสีขนส่วนที่จะมาช่วยเสริมต้องครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางสายพันธุ์ขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขอาจจะมีสีซีดจาง แต่เมื่อโตขึ้นสีก็จะเข้มขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีสีอ่อน นอกเหนือจากที่กล่าวมาล้วนถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง



การเคลื่อนไหว : การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ แลดูนุ่มนวลแต่ทรงพลังและสง่างาม เวลาที่วิ่ง ระยะการย่างก้าวของขาหน้าและขาหลังจะต้องมาบรรจบกันที่กึ่งกลางลำตัว เวลาเดินหรือวิ่งขาต้องไม่แกว่งหรือปัด ซึ่งในการประกวดการเคลื่อนไหวของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก



ขนาด : เพศผู้ควรมีความสูงระหว่าง 23-24 นิ้ว(ความสูงวัดที่หัวไหล่ขาหน้า) ส่วนเพศเมียควรมีความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 21-22 นิ้ว หากความสูงน้อยกว่าหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 นิ้ว ถือเป็นข้ออนุโลม แต่ถ้าสูงหรือเตี้ยกว่าเกิน 1 นิ้ว จากเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงมาก สำหรับความยาวของลำตัวโดยวัดจากหน้าอกถึงบั้นท้าย ควรมีสัดส่วนความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย คือ สัดส่วน 12 :11 ส่วนน้ำหนักของสุนัขเพศผู้ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 65-75 ปอนด์ สำหรับเพศเมีย 55-56 ปอนด์



อารมณ์ : ควรมีความเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่มีนิสัยขี้หวาดระแวงและดูน่าเชื่อไว้วางใจได้ ไม่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย แต่ก็ไม่ขี้ขลาดตาขาวด้วย


2.แจ็ค รัสเซลล์ เทอร์เรีย



แจ็ค รัสเซลล์ได้มีการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ขึ้นมาใหม่เมื่อต้นปี ค.ศ. 1800 ในประเทศอังกฤษโดยศาสนจารย์ Jack Russell ซึ่งภายหลังสุนัขพันธุ์ดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า Jack Russell Terrier (JRT) ตามชื่อของท่านศาสนจารย์ นอกจาก Jack Russell Terrier จะมีชื่อตามศาสนจารย์ที่เรียกกันแล้ว ก็ยังมีบางครั้งที่คนมักเรียกก็คือ PARSON JACK RUSSELL


โดยทั่วไปแล้วสุนัขสายพันธุ์กลุ่ม TERRIER จะใช้ในการล่าสัตว์และติดตามเหยื่อไปหลังจากที่เหลือ โดยสุนัขในกลุ่ม HOUND ไล่ต้อนมาก่อนหน้านี้แล้ว




สายพันธุ์ของ Jack Russell Terrier ในอเมริกาและอังกฤษ ขนาดของสุนัขจะอยู่ที่ 10-15 นิ้ว แต่ในออสเตรเลีย Jack Russell Terrier จะถูกแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ Jack Russell จะมีขนาด 10-12 นิ้ว PARSON JACK RUSSELL ขนาด 12-14 นิ้ว ลักษณะขนของ Jack Russell Terrier มีด้วยกัน 3 แบบ คือ ขนสั้น ขนหัก และขนยาว ขนหักและขนยาวจะค่อนข้างหยาบเมื่อเทียบกับขนสั้น แต่ขนสั้นก็ไม่ควรจะอ่อนนุ่มและเป็นมันจนเกินไป เนื่องจากขนเหล่านี้ช่วยปกป้องสุนัขในเวลาที่ออกไปล่าสัตว์



ขน ขนควรจะมีสีขาวตั้งแต่ 51% หรือมากกว่าขึ้นไปในร่างกาย และมี MARKINGS เป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือทั้งน้ำตาลและดำ ซึ่งเรียกว่า TRI COLOURED MARKING ของสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่จะพบที่บนใบหน้า รอบตา หู ที่ก้นถึงหางและเล็กน้อยบนลำตัว



ลักษณะทั่วไป ในการเลือก Jack Russell Terrier คือควรจะมีกะโหลกโต หูต้องเป็นรูปตัว V และตกไปทางด้านหน้า จมูกและริมฝีปากต้องมีสีดำ ตาควรเป็นสีน้ำตาลเข้มรูปถั่วอัลมอนด์ แฝงด้วยแววตาขี้เล่นและขี้สงสัย ขาต้องตรงและมีกล้ามเนื้อที่ต้นขา หางต้องสั้นและชี้ขึ้น



ผู้ที่ต้องการเลี้ยง Jack Russell Terrier ควรมีคุณสมบัติดังนี้



1. Jack Russell Terrier เป็นสุนัขตื่นตัวตลอดเวลา มันควรได้รับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรอยู่ในความควบคุมดูแลและควรได้รับการฝึกสอนจากเจ้าของหรือฝึก

2. Jack Russell Terrier เป็นสุนัขที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลและเวลาจากเจ้าของอย่างมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่ชอบเข้าสังคมและขี้เล่น

3. ผู้เลี้ยง Jack Russell Terrier ควรจัดระบบการเลี้ยงให้ถูกต้อง เช่นต้องมีรั้วรอบขอบชิด เพราะ สามารถกระโดดได้สูงมาก รวมถึงปีนป่าย แม้กระทั่งขุดรูเพื่อหนีเที่ยวถ้ามันรู้สึกเบื่อหรืออยากหาอะไรสนุกตื่นเต้นทำ

4. เพื่อความปลอดภัยของสุนัข ผู้เลี้ยง Jack Russell Terrier ควรจะใช้สายจูงตลอดเวลาที่พาไปเดินเล่น เนื่องจาก Jack Russell Terrier เป็นสุนัขที่มีความรวดเร็วและคล่องตัวสูงมาก



3.ชิวาวา








 
 
 
 
Chihuahau สุนัขพันธุ์นี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 มีถิ่นกำเนิดในดินแดนที่เป็นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบันในการค้นพบทวีปอเมริกาของ CHRISTOPHER COLUMBUS ก็มีบันทึกการค้นพบสุนัขพันธุ์ชิวาวานี้ด้วย จากตำนานกล่าวว่าชาวพื้นเมืองนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวามาก และเกิดความเชื่อถือในเรื่องโชคลางต่างๆ ตลอดจนมีการนำสุนัขพันธุ์นี้ไปใช้ในพิธีบูชายันต์ มีผู้พบภาพสลักของสุนัขพันธุ์ตามก้อนหินต่างๆ และในถ้ำสุนัขพันธุ์ชิวาวามี 2 ชนิด คือ ชนิดขนสั้นและชนิด


มาตราฐานสายพันธุ์


อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ตื่นตัวอยู่เสมอ



ศีรษะ : หัวกะโหลกมีลักษณะกลม แก้มค่อนข้างเล็ก



หู : มีขนาดใหญ่ ใบหูตั้งพันธุ์ขนยาว บริเวณหูจะมีขนยาว



ตา : มีลักษณะกลมโต



ปาก : มีขนาดค่อนข้างเล็ก



จมูก : ค่อนข้างส้น มีหลายสีขึ้นอยู่กับสีของขน



ฟัน : ขาว แข็งแรง ขบแบบกรรไกร



ลำตัว : ความยาวของลำตัวมีขนาดยาวกว่าความสูงเส้นหลัง ตรงอยู่ในแนวระดับ



คอ : มีลักษณะกลม หัวไหล่เล็ก ชนิดขนยาวบริเวณจะมีขนมาก



อก : ค่อนข้างกว้าง



ขาหลัง : มีกล้ามเนื้อมาก ข้อเท้าหลังแข็งแรง ขาหลังอยู่ห่างกันพอเหมาะมองจากด้านหลัง ขาหลังตรงไม่บิด เท้ามีขนาดเล็ก นิ้วเท้าชิดเล็บค่อนข้างยาว



หาง : มีขนาดค่อนข้างยาว ลักษณะโค้งคล้ายเคียว อาจจะม้วนหางยกสูง



ขน-สี : ชนิดขนสั้นขนค่อนข้างนุ่มและสั้นทั่วทั้งตัว ชนิดขนยาวบริเวณหู อก ลำตัว ขา มีขนยาว สีมีหลายสี เป็นสีเดียวทั่วตัว แต่อาจจะมีสีจางบางส่วนได้



ขนาด : เป็นสุนัขที่มีขนาดเล็กมาก



น้ำหนัก : มีน้ำหนักไม่เกิน 6 ปอนด์



การเดิน-วิ่ง : มีความสง่างาม



ข้อบกพร่อง : หางตัด หูตก น้ำหนักเกิน 6 ปอนด์



4.ชเนาเซอร์








มีถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมัน สุนัขที่มีหนวดรุงรังแทบจะคลุมหน้าคลุม มิด มองดูราวกับเอาหน้ากากตัวละครมาสวมไว้ โดยไม่มีใครเฉลียวใจว่าใต้หน้ากากที่ว่านี้จะเป็นสุนัขที่ร้ายกาจสักแค่ไหน สุนัขพันธุ์นี้ชอบอยู่กับคน แต่ถ้ากับสุนัขด้วยกันแล้วกลับเมินเอาเลยทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าพันธุ์หมาเมินก็คงไม่ผิด



สุนัขพันธุ์ชเนาเซอร์เป็นสุนัขที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องนำมาคุ้มครองป้องกันภัยหรือครอบครัวที่มีเด็กๆ และต้องการสุนัขที่มีความปราดเปรียวกระฉับกระเฉงมากกว่าสุนัขสวยงาม นอกจากนี้แล้วมันยังเชื่องและเรียนรู้ได้เร็วอีกด้วย

สิ่งที่จำเป็นขึ้นอยู่กับขนาดของสายพันธุ์ พันธุ์เล็กอยู่ในบ้านขนาดปานกลางไม่ต้องใหญ่โตนักก็ได้ ส่วนพันธุ์ใหญ่นั้นควรอยู่ในบ้านที่มีลานวิ่ง สุนัขพันธุ์ชเนาเซอร์ทุกพันธุ์ต้องการการออกกำลังกายอย่างมาก และควรมีอะไรให้ทำตลอกเวลา ขนนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลทำความสะอาด ตกแต่งขนอยู่เป็นประจำและตัดขนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง



จุดเด่นของสุนัขพันธุ์ชเนาเซอร์คือ เป็นสุนัขเฝ้าบ้านชั้นเลิศและเป็นผู้พิทักษ์ที่มีความกล้าหาญ มีใจรักคนและบ้านมาก

ในภาษาเยอรมันคำว่า ชเนาซ์ (Schnauze) มีความหมายว่าปาก คำว่าชเนาเซอร์จึงมีความเหมาะสมที่จะเรียกสุนัขที่มีหนวดเคราอย่างสุนัขพันธุ์นี้



สายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสายชเนาเซอร์ ได้แก่ ชเนาเซอร์ที่มีขนาดกลาง หรือที่เรียกว่า สแตนดาร์ดชเนาเซอร์นั่นเอง หลายศตวรรษมาแล้วที่สุนัขพันธุ์นี้จะวิ่งตามรถม้าซึ่งวิ่งไปตามป่าของประเทศเยอรมันนี โดยวิ่งเหยาะๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเคียงข้างกับม้า เป็นสุนัขที่ใช้จับหนูได้เป็นเลิศ



ไจแอนท์ชเนาเซอร์หรือชเนาเซอร์ยักษ์จะแข็งแรงและกำยำกว่าสแตนดาร์ดชเนาเซอร์ เป็นสุนัขอารักขาที่ดี ถูกใช้ให้ต้อนวัวต้อนควายมานานหลายร้อยปี และได้เลิกไปหลังจากรถไฟเข้ามามีบทบาทแทนที่ ปรกติจะเรียบสงบ แต่ต้องฝึกให้อยู่ในกรอบ



มิเนียเจอร์ชเนาเซอร์ หรือชเนาเซอร์ขนาดเล็ก เป็นสุนัขที่ย่อส่วนของสแตนดาร์ดชเนาเซอร์ น่ารัก เชื่อฟัง เป็นสุนัขอารักขาที่ตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นเพื่อนที่อยู่ในอุดมคติ



มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะโดยทั่วไป : เป็นสุนัขที่กระฉับกระเฉง กำยำ มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง สัดส่วนของลำตัวเหมือนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส



นิสัย : ตื่นเต้นและมีน้ำใจ เต็มที่ที่จะทำให้เจ้านายพอใจ ข้อบกพร่องคือ ขี้อายหรือนิสัยชั่วร้าย



ศีรษะ : แข็งแรง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าผากไม่ควรย่น ส่วนบนของกะโหลกศีรษะค่อนข้างแบนและยาว



ฟัน : สบกันแบบกรรไกร ฟันบนหรือฟันล่างยื่นออกไปข้างหน้าเป็นข้อบกพร่อง



ตา : เล็ก สีน้ำตาลเข้ม ตั้งอยู่ลึก ข้อบกพร่องคือ มีสีอ่อนหรือมีขนาดใหญ่และโปนออกมา



หู : ปลายแหลม สมมาตรกับหัว ไม่ยาวจนเกินไป ตั้งฉากตรงมุมใน



คอ : แข็งแรงและโค้งอย่างสวยงาม หนังตรงคอหอยจะไม่ย่น



ลำตัว : สั้นและลึก เส้นหลังตรง ความยาวจากอกไปยังกระดูกสันอกยาวเท่ากับความสูงที่วัดถึงจุดสูงสุด อกกว้างเกินไป หรือกระดูกซี่โครงตื้น หลังโค้งขึ้นเป็นข้อบกพร่อง



ส่วนหน้า : มีไหล่ที่แบนและลาดเล็กน้อย ขาหน้าเหยียดตรงและขนานกัน มีข้อเท้าที่แข็งแรง ศอกชิดกัน ข้อศอกหลวมถือว่าเป็นข้อบกพร่อง



ส่วนหลัง : มีโคนขาที่แข็งแรงและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ส่วนท้ายไม่อยู่สูงกว่าไหล่ ข้อบกพร่องคือ ข้อขาหลังบิดเข้าหากัน



เท้า : อุ้งเท้าสีดำ หนา สั้นและมน นิ้วเท้าโค้งและกระชับ



การเคลื่อนไหว : ศอกของขาหน้าจะแนบชิดกับลำตัว ขาหลังจะเหยียดตรงและอยู่ในระนาบเดียวกันกับขาหน้า



หาง : ตั้งอยู่สูงและเหยียดตรง หางจะตัดให้สั้นขนาดที่มองเห็นเหนือเส้นหลัง หางตั้งต่ำเป็นข้อบกพร่อง



ขน : มีสองชั้น ขนชั้นนอกแข็งและหยิก คอและลำตัวต้องมีการถอนทิ้ง เวลาลงประกวดขนต้องยาวพอที่จะมองเห็นลักษณะของขน จะปิดสนิทในส่วนของคอ หูและกะโหลก ข้อบกพร่องคือ ขนนิ่มหรือเรียบเกินไป มองดูลื่น



สี : เทา ดำและน้ำเงิน และดำสนิท ที่นิยมคือสีเทาดำ หากมีเขตของสีน้ำตาลแดงก็ยอมรับได้



น้ำหนัก : - ขนาดเล็ก 17 - 18 ปอนด์

- ขนาดมาตราฐาน 33 - 40 ปอนด์

- ขนาดยักษ์ 60 - 70 ปอนด์

ความสูง : - ขนาดเล็ก 13.5 นิ้ว

- ขนาดมาตราฐาน 16.5 - 17.5 นิ้ว

- ขนาดยักษ์ 25.5 - 27.5 นิ้ว


5.ชิห์สุ Shin Tzu









Shin Tzu สันนิษฐานว่าสุนัขพันธุ์ชิห์สุมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยใช้เป็นสัตว์เลี้ยงของพระจักรพรรดิ์ และเชื้อพระวงศ์ในพระราชสำนักในราชวงศ์หมิงและราชวงศ์แมนจู หลังจากนั้นได้มีการนำมาเลี้ยงในที่ต่างๆ ทั่วอังกฤษและยุโรป
ลักษณะทั่วไป



เป็นสุนัขขนาดเล็ก ขนยาวจรดพื้น โครงสร้างมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวลำตัวมากกว่าความสูง กว้างและลึก เส้นกลางหลังตรงไม่โค้ง ศีรษะมีลักษณะกว้างกลม จมูกและปากสั้นยาวไม่เกิน 1 นิ้ว บริเวณหน้าไม่มีรอยย่น รอยต่อระหว่างปากและหน้าเป็นมุมหักที่ชัดเจน ตามีลักษณะกลมโต นัยน์ตาสีเข้ม ตาไม่ยื่นโปนออกมา หูมีขนาดใหญ่และยาวปรกลงทั้ง 2 ข้าง ฟันหน้าบนและล่างขบกันพอดี หรือฟันล่างขบอยู่ด้านนอก หางม้วนงอวางพาดอยู่บนแผ่นหลังและขนยาวปรกคลุม

นิสัย


ชิห์สุเป็นสุนัขที่มีนิสัยขี้เล่น อ่อนโยน ชอบเล่นกับเด็ก

ขนาด

ขนาด เพศผู้ เพศเมีย


ความสูง (เซนติเมตร) 9 - 11 9 - 11

น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) 4-7 4-7

ขน

สุนัขชิห์สุที่ดีควรมีขนที่ยาวจรดพื้น เส้นขนอ่อนนุ่ม ดกแน่น และมีลักษณะเหยียดตรงไม่หยิกงอ และขนชั้นในควรมีเส้นเล็กนุ่มและสั้นกว่าขนชั้นนอก ขนบริเวณศีรษะควรยาวจนสามารถรวบเป็นกระจุกได้

สี


มีได้หลายสี ตั้งแต่ สีขาว ดำ เทา น้ำตาล และเทาแกมแดง 2 - 3 สี และมักมีมาร์คกิ้งเป็นสีขาว บริเวณใบหน้า ไหล่ สะโพก และปลายหาง

ลักษณะบกพร่อง


1. ศีรษะเล็กและแคบเกินไป

2. ฟันหน้าชุดบนขบเกยอยู่ด้านนอกฟันล่าง

3. ขนสั้น หรือหยิก

4. จมูกและปากยาวเกินไป

5. ขนบางไม่ดกแน่น


 
 
6.เชา เชา
 

 






เชา เชาเป็นสุนัขที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น มีประวัติศาสตร์สายพันธุ์มายาวนาน กว่า 2000 ปี สุนัขเชา เชา เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสุนัขพันธุ์มาสตีฟแห่งธิเบตและพันธุ์ชามอยจากตอนเหนือของไซบีเรีย แต่มีข้อโต้แย้งว่าเชา เชาอาจเป็นสุนัขพันธุ์แท้ดั้งเดิม เพราะเป็นเพียงสุนัขพันธุ์เดียวในโลกที่มีลิ้นสีดำปนน้ำเงิน




เชา เชาเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในประเทศอังกฤษในปี 1880 โดยพระนางเจ้าวิคตอเรียทรงให้ความสนพระทัย สมาคมสุนัขพันธุ์เชา เชาได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษในปี 1895 สุนัขพันธุ์เชา เชามีความสามารถในการดมกลิ่นเป็นเลิศ มีความเฉลียวฉลาดในกลวิธีการล่าสัตว์



ปัจจุบันสุนัขพันธุ์เชา เชาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ในบ้านเราจัดได้ว่าได้รับความนิยมอยู่ในเกณฑ์สูงและจัดได้ว่าเป็นสุนัขที่ค่อนข้างมีระดับ เหตุเพราะว่าเป็นสุนัขที่มีราคาค่อนข้างสูง จากการที่เชา เชามีขนหนาแน่นปกคลุมอยู่ทั่วตัว ทำให้ร่างกายอุ้มความร้อน ดั้งนั้นเชา เชาจึงชอบอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ในสภาพอากาศที่ร้อนอย่างบ้านเรา มักจะทำให้เหนื่อยง่ายและเฉื่อยชา แต่อย่างไรก็ตามการที่เชา เชามีการขยายพันธุ์ในหลายๆ รุ่น ทำให้สามารถปรับสภาพกับอากาศในเมืองไทยได้พอสมควร



มาตราฐานสายพันธุ์



ลักษณะทั่วไป : เชา เชาเป็นสุนัขที่เต็มไปด้วยพละกำลัง ลำตัวสั้นกระทัดรัด มีความแคล่วคล่องว่องไวและตื่นตัวอยู่เสมอ มีมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและมีโครงสร้างที่สมดุลมาก ลำตัวเป็นสี่เหลี่ยม ศีรษะกว้างและแบน สันจมูกกว้างและสั้น มีขนขึ้นหนาแน่นโดยเฉพาะที่รอบคอ ขาใหญ่ตั้งตรงและแข็งแรง ขนมีความมันเป็นประกาย ลักษณะเด่นของเชา เชาคือ มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความสง่างามและมีความเป็นธรรมชาติ เปรียบเสมือนกับเป็นราชสีห์ หน้าตาดุดันแข็งขัน สงบและว่างท่าอย่างสุขุมเป็นผู้ดี มีความเป็นอิสระและมีการตัดสินใจที่ดี

ศีรษะ : มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดรูปร่าง มีกะโหลกศีรษะแบนกว้าง มีสต๊อปชัดเจน ลักษณะหน้าตาฉายแววของความทรนงองอาจ สันจมูกสั้นและกว้างเมื่อเทียบกับความยาวของกะโหลกจากาจนถึงปลายจมูก ริมฝีปากเต็มและยื่น

ฟัน : ฟันขาว แข็งแรง สบกันพอดี

จมูก : จมูกใหญ่ กว้างและมีสีดำ ถ้าจมูกมีลายจุดหรือมีสีอื่นที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากสีดำถือว่าขาดคุณสมบัติ ยกเว้นเชา เชาที่มีดำ, น้ำเงิน จมูกอาจมีสีน้ำเงินได้ ลิ้นมีสีดำออกน้ำเงิน เนื้อเยื่อในปากออกสีดำ ถ้าลิ้นมีสีชมพูแดงหรือมีจุดสีแดงจนเห็นได้ชัดเจนถือว่าขาดคุณสมบัติ

ตา : มีสีดำขนาดปานกลาง รูปร่างเรียวคล้ายผลอัลมอนด์ ขอบตาสีดำ

หู : ใบหูเล็ก ตรงปลายหูมีความโค้งมนเล็กน้อย หูแข็งตั้งขึ้น เอียงออกด้านข้างและด้านหน้าเล็กน้อย ถ้าหูตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างถือว่าขาดคุณสมบัติ

ลำตัว : สั้นกระทัดรัด มีซี่โครงผายออก ความสูงของลำตัวมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของลำตัว เส้นหลังตรงขนานกับพื้น

คอ : ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ คอกลม มีความยาวพอเหมาะ แข็งแรง ทำให้ดูสง่างาม

อก : กว้างและลึกเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ลึกจรดข้อศอก ถ้าอกแฟบถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง

ขาหน้า : ขาหน้าตั้งตรง กระดูกมีขนาดใหญ่ มีมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ข้อเท้าขาหน้าตั้งตรงตั้งฉากกับพื้น เท้าชี้ตรงไปข้างหน้าไม่บิดซ้าย - ขวา เท้ามีลักษณะหนากลม เท้าชิด เล็บตัดสั้น

ขาหลัง : มีกระดูกใหญ่ ขาหลังท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มองจากด้านหลังขาหลังตรง และขนานห่างกันพอเหมาะ ข้อเท้าหลังตรงตั้งฉากกับพื้น มองจากด้านข้าง สะโพก หัวเข่าและข้อเท้าจะเป็นเส้นตรงเดียวกัน เท้าหลังมีลักษณะคล้ายเท้าหน้า

เอว : มีขนาดสั้นและลึก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ

ขน-สี : มี 2 ชนิด คือ ชนิดขนสั้นและชนิดขนยาว มีขนที่ดกหนา เส้นขนเหยียดตรง ขนชั้นนอกค่อนข้างหยาบ ขนชั้นในนุ่ม มีสีสดใสและเป็นสีเดียวกันตลอด อาจมีเฉดสีแตกต่างออกไปเล็กน้อยตรงแผงคอ ที่หางและที่ก้น เชา เชามีสีดำ, สีเทา, สีแดง, สีครีม ที่สำคัญคือ เชา เชาต้องมีสีเดียวตลอดทั้งตัว

หาง : โคนหางอยู่ในระดับสูง หางพาดแนบหลัง

ส่วนสูงและน้ำหนัก : สูงประมาณ 17 - 20 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 24 - 27 กิโลกรัม

การเคลื่อนไหว : มีความมั่นคง สง่างาม ขณะวิ่งขาตึง ยกเท้าไม่สูง
 
 
7.ซิลกี้ เทอร์เรีย
 
ซิลกี้ เทอร์เรีย มีถิ่นกำเนิดที่เมืองซิดนี่ ประเทศออสเตรเลีย แต่ยอร์คเชีย เทอเรีย จะมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นๆ "ซิลกี้ เทอเรีย" จะมีชื่อเรียกว่าซิดนี่ ซิลกี้ เทอร์เรีย เป็นการเรียกตามแหล่งกำเนิดคือเมืองซิดนี่ต่อมาเรียกชื่อย่อเป็นพันธุ์ "ซิลกี้ เทอร์เรีย" สุนัขพันธุ์นี้ลงประกวดครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย






ในราวปี 1907 และมีมาตรฐานพันธุ์ขึ้นในปี 1909 และต่อมาได้มมีการนำสุนัขซิลกี้ เทอร์เรีย เข้าไปพัฒนาสายพันธุ์ในอเมริกา ราวปี 1950 และได้ขึ้นทะเบียนต่อ A.K.C. ในปี ค.ศ.19595



ซิลกี้ เทอเรีย เป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่จัดรวมอยู่ในกลุ่ม "ทอย" เช่นเดียวกับ "ยอร์คเชีย เทอ เรีย"เป็นสุนัขที่มีขนาดเล็ก เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ของสุนัขพันธุ์ออสเตเรียน เทอร์เรียและยอร์คเชีย



มาตราฐานสายพันธุ์

โครงสร้าง : เป็นสุนัขที่มีรูปร่างขนาดเล็ก ลำตัวสั้นแต่ยาวกว่าส่วนสูง ขนยาว ว่องไว สามารถวิ่งไล่จับหนูได้อย่างคล่องแคล่ว

ศีรษะ : มีขนาดเล็กลักษณะแข็งแรง หัวเป็นรูปลิ่ม ส่วนหูค่อนข้างยาว หัวกะโหลกแบน

หู : มีขนาดเล็ก (แต่ใหญ่กว่ายอร์คเชีย เทอร์เรียอย่างเห็นได้ชัด) มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนตั้ง ขนที่ใบหูสั้น (ขนที่หูของยอร์คจะยาวกว่ามาก)

ตา : ค่อนข้างเล็กสีเข้ม แววตาเป็นประกาย ส่อแววฉลาดและร่าเริง

จมูก : มีสีดำ ดั้งจมูกมีมุมหักเล็กน้อย

ปาก : สัดส่วนความยาวของปากต่อกะโหลก ประมาณ 2.5 ต่อ 3.5

ฟัน : แข็งแรงขบแบบกรรไกร

ลำตัว : มีความยาวปานกลาง สมส่วน (ลำตัวจะยาวและใหญ่กว่ายอร์คเชีย เทอร์เรีย)

ส่วนอก : กว้างลึก จรดข้อศอก

ขาหน้า : แข็งแรงตั้งตรง เท้าเล็กคล้ายเท้าแมว นิ้วเท้าหนา เล็บสีเข้ม นิ้วติ่งตัดออก เท้าชี้ตรงไปด้านหน้าไม่บิดซ้ายหรือขวา

ขาหลัง : ข้อเท้าหลัง ท่อนบนแข็งแรงซึ่งจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อข้อเท้าหลังทำมุมพอประมาณข้อเท้าหลังสั้น เท้าหลังคล้ายเท้าแมว เล็บสีดำ เท้าชี้ตรงไปด้านหน้า นิ้วติ่งหลังตัดออก

หาง : โคนหางอยู่ในตำแหน่งสูง หางตั้งตรง นิยมตัดหางสั้น บริเวณหางมีขนเล็กน้อย

ขน : ขนมีลักษณะเหยียดตรงเงางามคล้ายแพรวไหม บริเวณหลังขนหูยาวประมาณ 5-6 นิ้ว บริเวณท้องมีขนยาว (ซิลกี้ เทอร์เรีย จะมีขนที่สั้นและบางกว่า ยอร์คเชีย เทอร์เรีย อย่างเห็นได้ชัด)

สี : สีขนสีเทาเงิน-น้ำตาล ขนบริเวณใบหน้าและหูจะสั้น ส่วนท้ายของหัวจรดปลายหางมักจะเป็นสีเทาเงิน บริเวณปากแก้ม หู ข้อเท้าเป็นสีน้ำตาล

ขนาด : เป็นสุนัขขนาดเล็ก (เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะตัวใหญ่กว่า ยอร์คเชียร์

น้ำหนัก : ประมาณ 8-9 ปอนด์

ส่วนสูง : ประมาณ 9-10 นิ้ว

อุปนิสัย : สุภาพ เป็นมิตร ฉลาด ตื่นตัวอยู่เสมอ รักเด็กไม่ ขลาดกลัว


8.เซนต์เบอร์นาร์ด






เซนต์เบอร์นาร์ด เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักมากที่สุดแต่ใจดีที่สุด ตามสมญานามเรียกขานว่า สุนัขนักบุญ ( SAINT ) มีประวัติความเป็นมาว่า นักบุญเซนต์ เบอร์นาร์ด เดอเมนธอน ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเทือกเขาแอลป์ โดยมีสุนัขคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในหิมะ หรือหลงทางหรือนอนหนาวอยู่ท่ามกลางลานหิมะ




สุนัขพวกนี้จมูกไว ดมรู้ว่ามีคนจมอยู่ใต้หิมะแม้จะลึกหลายๆ ฟุต สุนัขจะออกวิ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ตัว เป็นการวิ่งลาดตระเวนในระหว่างที่เกิดพายุหิมะถล่ม หรือหลังจากที่เกิดพายุหิมะแล้ว เพื่อค้นหาคนเดินทางที่ประสบอันตรายติดอยู่ในกองหิมะ เมื่อพบกับผู้เคราะห์ร้าย สุนัข 2 ตัวจะนอนลงบนหิมะแนบชิดร่างกายของผู้นั้น เพื่อให้ความอบอุ่น และสุนัขอีกตัวหนึ่งจะเลียตามใบหน้าเพื่อช่วยให้มีสติฟื้นคืนมา



ในขณะเดียวกันสุนัขอีกหนึ่งตัวในกลุ่มจะวิ่งย้อนกลับไปยังสถานที่พัก เพื่อแจ้งเหตุร้ายให้นักบวชทราบ และพามายังสถานที่เกิดเหตุ "ถังไม้เล็กๆ" ที่ผูกติดคอมีไว้เพื่อใส่เหล้าหรือยาไว้ให้ผู้ประสบภัยเปิดกินได้ เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และมีผ้าห่มผูกติดหลังเอาไว้เพื่อให้ผู้ประสบภัยห่มกันหนาว



นอกจากนี้สุนัขเซนต์ฯ ยังได้กลับมาตามคนไปช่วยคนจากหลุมหิมะและพากลับมายังที่พักได้ นอกเหนือจากความสามารถในการค้นหาเส้นทางและประสาทในการดมกลิ่น ซึ่งสามารถทำให้ค้นหาร่างของมนุษย์ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้หิมะ สุนัขยังมีชื่อเสียงในการมีสัมผัสที่หกที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งทำให้มันทราบว่าพายุหิมะกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว จะมีการรายงานอย่างทันท่วงที โดยที่สุนัขจะเปลี่ยนจุดยืนอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ภายในเวลาไม่กี่อึดใจที่พายุหิมะจะเกิดและถล่มตรงจุดนั้น ซึ่งจะทำให้ร่างถูกฝังอยู่ใต้หิมะ หรือน้ำแข็งหนักหลายตัน



ในครั้งแรกนักบวชได้เลือกเอาสุนัขจากดินแดนใกล้เคียงไปเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสุนัขพันธุ์โมลอสเชี่ยน ต่อมาก็คือสุนัข "เซนต์เบอร์นาร์ด" นั่นเอง เป็นวีรกรรมที่กล่าวขานกันตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์



ชาวอังกฤษในตอนต้น ค.ศ. 1810 ได้สั่งนำเข้าสุนัขที่ใช้ในสถานที่พักคนเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อเสริมสายเลือดสุนัขพันธุ์มาสตีฟที่มีอยู่ ซึ่งมีการอ้างอิงถึงสายพันธุ์ เป็นเวลาหลายปีที่ถูกเรียกว่า "สุนัขศักดิ์สิทธิ์" ในประเทศเยอรมันนีราวปี ค.ศ. 1828 มีการเสนอให้เรียกชื่อว่า อัล เพนค็อก ในปี ค.ศ. 1833 นักเขียนคนหนึ่งชื่อ ดาร์เนียล วิลสัน ได้พูดถึงสุนัขเป็นครั้งแรกที่เรียกว่า เซนต์ เบอร์นาร์ด แต่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1865 ชื่อเซนต์ เบอร์นาร์ดจึงปรากฏขึ้นอย่างแน่ชัด และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 จึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ



สุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดประสบกับปัญหาอันเนื่องมาจากสายพันธุ์เริ่มอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก เพราะกันอยู่แต่สายพันธุ์เดียว ( Inbreeding) ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บ นักบุญจึงต้องการให้มีการผสมข้ามพันธุ์ เพื่อเพิ่มขนาดและพลังความแข็งแกร่งใหม่ให้สุนัข จึงเลือกสุนัขพันธุ์ นิวฟาวด์แลนด์ ซึ่งในขณะนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ด ผลของการผสมข้ามพันธุ์นี้ ได้ผลเป็นที่พึงปรารถนาในทุกๆ ด้าน และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายรูปแบบและลักษณะนิสัยของเซนต์ เบอร์นาร์ดเลย



อย่างไรก็ตาม จากการผสมข้ามพันธุ์ ทำให้ได้สุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดขนยาวขึ้นมาเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้จนถึงปี ค.ศ. 1830 สุนัขเซนต์ เบอร์นาร์ดทั้งหมดมีขนสั้น ปีต่อๆ มาของการผสมพันธุ์ทำให้มีเซนต์ เบอร์นาร์ดเกิดขึ้นอย่างมากมายในหุบเขาของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในประเทศเยอรมันนี ประเทศยุโรปอื่นๆ รวมทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา



มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : เป็นสุนัขที่มีพละกำลัง รูปร่างสูงได้สัดส่วน แข็งแร่งและมีมัดกล้ามเนื้อในทุกส่วน ศีรษะแข็งแรง เป็นสุนัขที่มีท่าทางฉลาดเฉลียวมากที่สุด สุนัขที่มีหน้ากากสีดำจะทำให้ดูเข้มขึ้นแต่ไม่ทำให้ลักษณะโดยส่วนรวมเสียไปแต่อย่างใด

อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ช่างประจบประแจง สอนง่าย จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาช้านานทั่วทุกมุมโลก

ศีรษะ : มีความแข็งแกร่งมาก มีขนาดใหญ่โตและกว้าง กระดูกแก้มอยู่สูง มีสันกระดูกเหนือตาชัดเจนมาก ผิวหนังที่หน้าผากเหนือตาเป็นรอยย่นจนเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นแนวเส้นเข้าไปรวมที่เส้นกลางศรีษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขกำลังตื่นตัว รอยย่นจะเห็นได้ชัดมากขึ้น การที่มีรอยย่นมากจนเห็นชัดเกินไปไม่เป็นที่นิยม ความลาดเอียงของกะโหลกศีรษะ มายังจมูกจะหักมุมค่อนข้างมาก



จมูก : จมูกจะสั้นไม่เรียวเล็กตรงปลาย และความลึกในแนวดิ่งที่ฐานของจมูกต้องมากกว่าความยาวของจมูก สันของจมูกไม่โค้งแต่จะเป็นแนวตรง ในสุนัขบางตัวจะหักเล็กน้อย ร่องกลางศรีษะตื้นเห็นได้ชัดเจนและค่อนข้างกว้าง



ปาก : ริมฝีปากไม่บางจนเกินไป แต่จะโค้งอย่างสวยงามมายังขอบด้านล่างและเหลื่อมริมฝีปากล่างเล็กน้อย ริมฝีปากล่างต้องไม่ห้อยมากไป ฟันควรมีความแข็งแรงและสบกันพอดี ลักษณะขากรรไกรล่างสั้น แม้จะพบในสุนัขตัวที่มีความพร้อมสวยงามก็เป็นลักษณะที่ไม่นิยม ถ้าขากรรไกรบนสั้นถือว่าเป็นข้อบกพร่อง ปากที่เป็นสีดำเป็นลักษณะที่ได้รับความนิยม



หู : มีขนาดปานกลาง ตั้งอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูงที่บริเวณฐาน ห่างจากศีรษะเล็กน้อย แล้วพับงอลงมาด้านข้างแนบอยู่กับศีรษะ ใบหูนิ่มมีลักษณะสามเหลี่ยมปลายมนยาวออกไปเล็กน้อย ทางด้านปลาย ขอบหูด้านหน้าอยู่แนบชิดกับศีรษะ โดยที่ขอบหูด้านหลังอาจอยู่ห่างจากศีรษะเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขอยู่ในท่าเตรียมพร้อม



ตา : ตั้งอยู่ทางด้านหน้ามากกว่าทางด้านข้าง มีขนาดปานกลาง สีน้ำตาลเข้ม มีแววตาฉลาดและเป็นมิตร มีความลึกปานกลาง เปลือกตาด้านล่างปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดรอยย่นที่มุมตาด้านใน หนังตาที่หย่อนมากเกินไป จนทำให้เห็นต่อมน้ำตาอย่างชัดเจน หรือมีสีแดงมาก เปลือกตาหนาและตามีสีจางเกินไปเป็นลักษณะที่ไม่นิยม



ลำคอ : ชูตั้งสูงและในขณะปฏิบัติหน้าที่ลำคอจะตั้งตรง นอกจากนั้นแล้วจะอยู่ในแนวระนาบ การเชื่อมต่อของศีรษะและคอจะเห็นได้ชัด โดยบริเวณต้นคอมีมัดกล้ามเนื้อมากและด้านข้างมีความกลม ซึ่งทำให้มองเห็นว่าลำคอสั้น จะมีส่วนหนังที่ยื่นลงมาบริเวณใต้คอจนเห็นได้ชัด แต่ถ้าชัดมากเกินไปจะไม่เป็นที่นิยม

หัวไหล่ : กว้างและมีความลาดเอียง มีมัดกล้ามเนื้อมากและมีพละกำลัง ส่วนสูงสุดของไหล่จะมองเห็นได้ชัดเจน



หน้าอก : มีความโค้งมาก ลึกพอประมาณ ไม่ยื่นลงไปต่ำกว่าข้อศอก



หลัง : กว้างมากเป็นแนวเส้นตรงจนถึงสะโพก จากตรงนี้จะค่อยๆ ลาดลงไปจนถึงส่วนท้าย และประสานกลมกลืนกัน จนไม่เน้นร่องรอยเข้าไปยังส่วนโคนหาง ส่วนท้ายของตัวพัฒนาขึ้นมาอย่างดี ขามีมัดกล้ามเนื้อมาก



ท้อง : แยกออกจากส่วนเอวที่มีพละกำลังมากจนเห็นได้ชัด ลอยสูงขึ้นเล็กน้อย



หาง : ใหญ่และยาว มีน้ำหนัก ขณะพักจะห้อยลงม้วนงอเล็กน้อย ในช่วงหนึ่งในสามของหางส่วนปลาย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องในสุนัขที่มีลักษณะดีหลายตัว หางจะอยู่ในลักษณะปลายงอนเล็กน้อย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในรูปของอักษร " f " ในขณะเคลื่อนไหวหางจะชูขึ้น แต่ไม่ถึงขนาดชูตั้งตรงหรือม้วนหางอยู่เหนือหลัง การที่ปลายหางม้วนลงเล็กน้อยเป็นลักษณะที่ยอมรับได้



ขน : ดก หนาแน่นมาก โดยมีความยาวพอประมาณ ขนหยิกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับม้วนงอและไม่ยุ่งเป็นกระเซิง ตามปกติที่หลังโดยเฉพาะจากบริเวณส่วนท้ายจนถึงก้นขนจะหยิกมากกว่า เป็นเงื่อนไขที่กำหนดในสุนัขขนสั้น หางจะมีขนเป็นพุ่ม โดยมีขนดกหนาแน่นยาวปานกลาง ขนหางที่หงิกงอไม่เป็นที่นิยม หางที่ขนด้านใดด้านหนึ่งที่เรียกว่า flag tail เป็นข้อบกพร่อง ที่ใบหน้าและหูจะปกคลุมด้วยขนที่สั้นและอ่อนนุ่ม ขนที่ยาวกว่าที่ฐานของหูเป็นที่ยอมรับได้ ขาหน้ามีขนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต้นขาจะมีขนค่อนข้างมาก



สี : ขาวกับแดงหรือแดงกับขาว สีแดงจะมีหลายเฉดสี แถบสีเทากับมีจุดสีขาว สีแดงและสีเหลืองออกน้ำตาลจะมีคุณค่าเท่ากัน รอยแต้ม ( marking ) ที่จำเป็นคือ หน้าอก เท้าและปลายหาง สีแดงขาวและแต้มสีขาว จะเป็นที่นิยมมากถ้ามีสีเดียวหรือไม่มีสีขาวจะไม่นิยม สีอื่นๆ ทั้งหมดถือว่าเป็นข้อบกพร่อง เว้นแต่เฉดสีที่นิยมกันที่มีอยู่ที่ศีรษะและหู ( หน้ากาก )



ขนาด : ตัวผู้สูงอย่างน้อย 27.5 นิ้ว ตัวเมียสูงอย่างน้อย 25.5 นิ้ว

ข้อบกพร่อง : สิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่ผิดไปจากมาตรฐาน เช่นหลังคดและหลังยาวไม่ได้สัดส่วน ข้อเท้าขาหลังโค้งงอมากไป ส่วนท้ายของลำตัวเป็นเส้นตรง มีขนขึ้นบริเวณนิ้วเท้า ข้อเท้าแบบวัว และข้อเท้าขาหน้าอ่อนแอ


9.ไซบีเรีย ฮัสกี





สุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY มีถิ่นกำเนิดในไซบีเรียน สุนัขพันธุ์นี้ถูกคัดเลือกพันธุ์ขึ้นโดยชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า CHUKCHI เพื่อให้ทำหน้าที่ล่าสัตว์และเฝ้ายาม แต่ต่อมาถูกพัฒนาให้มีลักษณะของสุนัขลากเลื่อน ประมาณ คศ.1900 มีการแข่งขันสุนัขลากเลื่อน ALASKA โดยมีระยะทางถึง 400 ไมล์ สุนัขที่ชนะในการแข่งขันคือสุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY หลังจากนั้นกีฬาแข่งลูกสุนัขลากเลื่อนก็เป็นที่นิยมมากขึ้น สุนัขพันธุ์นี้ก็มักจะชนะอยู่เสมอ AKC. รับรองสุนัขพันธุ์นี้ในปี คศ.1930





มาตราฐานสายพันธุ์

อุปนิสัย : ฉลาดเป็นมิตร สุขุม สามารถทำงานร่วมกันเป็นฝูงได้



ส่วนหัว : มีขนาดปานกลางสมส่วนกับลำตัว หัวกะโหลกค่อนข้างกลม หัวกะโหลกระหว่างหูจะกว้าง และเรียวลงจรดตาทั้งสองข้าง



หู : มีขนาดปานกลางมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายหูมน ใบหูหนา มีขนแน่นหูตั้ง



ตา : มีลักษณะเป็นรูปกลมรี อยู่หางกันพอประมาณ ตามีสีน้ำตาลเข้ม



ดั้งจมูก : มีมุมหักพอประมาณ



ปาก : ความยาวของปากมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก ปากมีความกว้างพอประมาณ สันปากตรง โคนปากใหญ่ และเรียวลงจรดปลายจมูก ริมฝีปากตึง มีสีเข้ม



จมูก : มีสีดำ น้ำตาลเข้ม หรือชมพู



ฟัน : ขาวสะอาด แข็งแรง ขบแบบกรรไกร



ลำตัว : มีขนาดปานกลาง เส้นหลังตรงขนานกับพื้น ความยาวของลำตัวมากกว่าความสูงของลำตัวเล็กน้อย



คอ : มีความยาวปานกลาง มีลักษณะโค้ง ขณะเดิน หรือวิ่ง คอจะยืดไปข้างหน้า

ลำตัวส่วนหน้า : หัวไหล่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ แข็งแรง



อก : มีลักษณะแข็งแรง อกลึกจรดข้อศอก อกมีความกว้างพอประมาณ ไม่กว้างจนเกินไป



ขาหน้า : มองจากด้านหน้าขาหน้าทั้งสองข้างตรง ห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างข้อเท้าเอียงเล็กน้อย ท่อนขาตรง ความยาวของขาจากข้อศอกถึงพื้นจะมากกว่าความยาวจากข้อศอกถึงหัวไหล่เล็กน้อย เท้ามีลักษณะกลมรี นิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น



ขาหลัง : ท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีกำลังมาก ข้อเท้าหลังแข็งแรง มองจากเท้าหลัง ขาหลังทั้งสองข้างตั้งตรงขนานกัน ห่างกันพอเหมาะ เท้ามีลักษณะกลมรีนิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น



หาง : มีขนเป็นพวง หางมักจะยกสูงโค้งเล็กน้อย หางไม่บิดเอียงไปทางซ้ายหรือขวา



ขน - สี : ขนมีสองชั้น ขนชั้นในนุ่ม ขนชั้นนอกแข็งแนบชิดผิวหนัง ขนมีหลายสี ตั้งแต่สีดำหรือขาวล้วน



ขนาด : เป็นสุนัขที่มีขนาดปานกลาง



น้ำหนัก : เพศผู้หนักประมาณ 45 - 60 ปอนด์ เพศเมียหนักประมาณ 35 - 50 ปอนด์



ส่วนสูง : เพศผู้สูงประมาณ 21 - 23.5 นิ้ว เพศเมียสูงประมาณ 20 - 22 นิ้ว



การเดิน - วิ่ง : มีความสง่างาม เคลื่อนที่ได้เร็ว ขณะวิ่งเท้าไม่บิด หรือปัด



ข้อบกพร่อง : หูใหญ่ หูตก หางม้วนมาก


10.ปอมเมอเรเนียน






ปอมเมอเรเนียนเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีขนนุ่มปุกปุย มีหัวเป็นรูปลิ่ม หูตั้งชี้ขึ้น บรรพบุรุษปอมเมอเรนียนย้อนกลับไปถึงยุคก่อนคริสตกาล พบภาพวาดในแผ่นหินและรูปหล่อสัมฤทธิ์ตามโลงศพที่พบในอียิปต์ พบโครงกระดูกสุนัขพันธุ์เล็กคล้ายพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ในอุโมงค์ที่บรรจุศพสมัยโบราณของชาวอียิปต์



เชื่อกันว่า ปอมเมอเรเนียนได้รับการพัฒนาให้เป็นปอมเมอเรเนียนในปัจจุบันครั้งแรกที่เมืองปอมเมอเรเนีย ประเทศเยอรมัน ตั้งอยู่ในยุโดรเหนือแถบทะเลบอลติก ดินแดนกว้างใหญ่จากตะวันตกของเกาะรูเกนถึงแม่น้ำวิทูลา ที่แห่งนี้มีการเลี้ยงสุนัขอย่างแพร่หลาย ทั้งเพื่อให้เป็นสัตว์และเพื่อให้เป็นสุนัขอารักขา ปอมเมอเรเนียนมีต้นกำเนิดจากพันธุ์สปิทซ์ในสมัยโบราณ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมเมอเรเนียนพัฒนาจากสุนัขพันธุ์ซามอยด์ ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศรัสเซียแถบไซบีเรีย บางคนเชื่อว่าพัฒนามาจากสุนัขป่า ซึ่งอาศัยอยู่ตามถ้ำในประเทศเยอรมัน และถูกนำมาใช้เป็นสุนัขเลี้ยงแกะในทวีปยุโรปตอนกลางและตอนล่าง นำมาพัฒนาในยุโรปเพื่อช่วยในการเลี้ยงแกะ ซึ่งบรรพบุรุษของปอมฯ น่าจะมีน้ำหนักมากถึง 30 ปอนด์ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมฯ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศกรีซ โดยอ้างหลักฐานจากภาพวาดสมัยโบราณหลายภาพที่มีอายุ 400 ปีก่อนคริสตกาล หรือเกือบประมาณ 2500 ปีมาแล้ว มีภาพของสุนัขขนาดเล็กที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนสุนัขปอมฯ ในปัจจุบัน คือ Stop ที่เด่นชัด ช่วงปากแหลม หูสั้น ลักษณะการเดินและการแสดงออกเหมือนกับที่พบได้ในปัจจุบันทุกประการ ยกเว้นแต่ตำแหน่งของหางที่อยู่ต่ำเกินไปเท่านั้น แสดงว่าสุนัขพันธุ์นี้มีขนาดเล็กมากตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ใช่เพิ่งพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมาตามที่มีคนในประเทศอังกฤษอ้างเสมอ ประมาณปี 1800 สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ทรงมีความชื่นชอบในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนและส่งสุนัขของพระองค์ลงประกวด ทำให้เกิดความนิยมปอมเมอเรเนียนอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ และเพราะความที่พระองค์โปรดปรานสุนัขที่มีขนาดเล็ก ผู้เพาะพันธุ์หลายคนเริ่มที่จะคัดสุนัขที่มีขนาดเล็ก ปัจจุบันปอมฯ ที่เราเห็นอยู่มีขนาดที่เล็กลงจากปอมฯ ที่เป็นต้นตำรับ 4-5 ปอนด์



ความฉลาดและความสามารถของปอมฯ ทำให้สุนัขพันธุ์นี้เป็นพระเอกในคณะละครสัตว์อย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเยอรมัน นิยมเลี้ยงกันเป็นฝูง บางแห่งทำเป็นสุนัขลากเลื่อนก็มี ปอมฯ เข้าสู่อังกฤษช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น มีการตั้งชมรมคือ English Pomeranian Club ในปี 1891 ภายหลังสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียทรงออกงานพร้อมสุนัขพันธุ์นี้บ่อยครั้ง ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ส่วนในประเทศอเมริกามีการปรากฎตัวครั้งแรกของปอมเมอเรเนียนที่งานกระกวดสุนัขแห่งหนึ่งประมาณปี 1892 ไม่กี่ปีหลังจากนั้นมีการสั่งนำเข้าอีกเกือบ 200 ตัว มาตรฐานของปอมฯ โดยทั่วไป รูปรางจะเหมือนสุนัขจิ้งจอก มีขนาดกลาง ตาเป็นวงรีสีดำ หูเล็กตั้งตรง ลำตัวสั้นขนาดกระทัดรัด หางเป็นพวงแผ่อยู่บนส่วนหลัง



มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : ปอมฯ เป็นสุนัขขนาดเล็ก ลำตัวสั้นกระทัดรัด น้ำหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ มีการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด ร่าเริงและตื่นตัวอยู่เสมอ ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ ขี้ประจบ แต่เป็นสุนัขค่อนข้างตกใจง่าย เห่ามาก ยิ่งตัวเล็กยิ่งเห่าเก่ง

สัดส่วน : น้ำหนักของปอมฯ โดยเฉลี่ยแล้วจะหนักประมาณ 3-7 ปอนด์ (ประมาณ 1.25-3 กก.) แต่ขนาดที่ดีสำหรับการประกวดนั้นควรหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ (1.7-2.5 กก.) ถ้าสุนัขหนักมากกว่าหรือน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถือว่าผิดมาตรฐาน รูปร่างของสุนัขมีความสำคัญกว่าขนาดของสุนัข ช่วงตั้งแต่หน้าอกจนถึงสะโพกจะสั้นกว่าหรือเท่ากับส่วนสูงตั้งแต่ช่วงไหล่จนถึงพื้น กระดูกมีขนาดปานกลาง

ศีรษะ : ขนาดของหัวต้องได้สัดส่วนกับลำตัว ช่วงปาก (MUZZLE) สั้นตรง หน้าดูคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก (FOXY EXPRESSION) หัวกะโหลกปิด ช่วงบนของหัวกะโหลกจะกลมเล็กน้อยแต่ไม่โหนกนูน ถ้ามองจากด้านหน้าและด้านข้างแล้วจะต้องเห็นหูที่มีขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่สูง (HIGH EARSET) และตั้งตรง รูปร่างปากจะมีลักษณะคล้ายรูปลิ่ม(WEDGE SHAPE) เส้นที่ลากจากจมูกไปถึงจุดหัก (STOP) จะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างตาทั้งสองข้างและหูทั้งสองข้าง ตามีสีดำสนิท สดใส ขนาดปานกลาง คล้ายเมล็ดอัลมอนด์ (ALMOND SHAPE) สีของจมูกและขอบตาต้องดำสนิท ยกเว้นปอมฯ สีน้ำตาล BEAVER และ BLUE ฟันต้องกัดสบกันพอดี (SCISSORSBITE)

นิสัยและอารมณ์ : สุนัขปอมฯ เป็นสุนัขที่เปิดเผย แสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด

คอ เส้นหลังและลำตัว : คอค่อนข้างสั้น ตั้งอยู่บนไหล่ ทำให้ช่วงคอตั้งสูง แลดูสง่างาม ช่วงหลังสั้น มีระดับของเส้นหลัง หางมีตำแหน่งที่สูง (HIGH TAILSET) วางราบตรงอยู่บนหลัง

ลำตัวส่วนหน้า : ไหล่จะต้องมีการเอียงลาดลงเพียงพอ เพื่อให้สามารถชูคอและหัวได้สูงและสง่างาม ความยาวของช่วงไหล่และขาตอนบนต้องเท่ากัน ขาหน้าต้องตรงและขนานกัน ความยาวตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อศอกต้องมีความยาวเท่ากับข้อศอกถึงพื้น ขาต้องตรงและแข็งแรง ไม่เอียงเข้าหรือเอียงออก

ลำตัวส่วนหลัง : ได้สัดส่วนกับลำตัวส่วนหน้า ตำแหน่งของหางจะต้องอยู่เหนือสะโพกค่อนมาทางด้านหน้าต้นขา ต้องมีกล้ามเนื้อแข็งแรงปานกลาง และมีส่วนหน้าของขาหลัง (STIFLES) มีมุม (ANGULATION) ที่โค้งงอพอสมควรรับกับส่วนน่อง (HOCK) ต้องตั้งฉากกับพื้น ถ้ามองจากด้านหลังขาทั้ง 2 ข้างต้องตรงและขนานกัน เท้ามีลักษณะโค้งมนกระชับ ไม่เอียง สุนัขต้องยืนอยู่ปลายเท้า (TOES) นิ้วติ่ง (DEWCLAWS) ถ้ามีควรตัดออก

การเคลื่อนไหว : การเดินหรือการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปอย่างอิสระราบเรียบ นุ่มนวล แลดูแข็งแรง เวลาเดินขาหน้าต้องเหยียดตรงไม่งอพับขึ้น ข้อศอกไม่กางออก ส่วนขาหลังต้องไม่ถ่างออก ขาหลังจะเคลื่อนไปข้างหน้าในจังหวะเดียวกันกับขาหน้าที่เคลื่อนที่ไป

ขน : สุนัขปอมฯ มีขน 2 ชั้น คือ ขนชั้นใน (UNDERCOAT) ต้องนุ่มและแน่น ขนชั้นนอก(OUTTERCOAT) ต้องยาวตรงเป็นประกายและหยาบ ขนชั้นในที่หนาแน่นจะช่วยพยุงขนชั้นนอกให้ฟูไม่ลู่ เหยียดตรง ขนจะต้องหนาแน่นตั้งแต่ช่วงคอ หน้าอก ช่วงไหล่ด้านหน้า ขนช่วงหัวและขาจะแน่นแต่สั้นกว่าขนช่วงลำตัว ขนหางยาว หยาบและเหยียดตรง การตัดแต่งเล็มขนให้ดูสวยงามและดูเรียบร้อยไม่ถือเป็นข้อผิด

สี : สีที่ได้รับการยอมรับและรับรอง ควรได้รับการพิจารณาการตัดสินอย่างเท่าเทียมกัน สีที่ได้รับการยอมรับได้แก่

1. สีใดๆ ก็ได้ที่ขึ้นเป็นสีเดียวกันทั้งตัว หรืออาจจะมีสีที่อ่อนหรือแก่กว่าแซมอยู่ด้วย (SELT-COLOR)

2. สีแซมกัน 2 สี (PARTI-COLOR) หมายถึงปอมฯ ที่มีสีขาวและมีสีอื่นแซมเป็นพื้นๆ กระจายเท่าๆ กันทั่วตัว และควรมีแถบสีขาวบนหัวด้วย

3. สีดำและน้ำตาล (BLACK AND TAN) หมายถึงปอมฯ มีสีดำที่มีสีน้ำตาลอยู่เหนือตาทั้ง 2 ข้างและปาก ลำคอ หน้าอก ใต้หาง ขาและเท้าทั้ง 4 ข้าง สีน้ำตาลนี้ยิ่งเข้มยิ่งดี

4. BRINDLE ได้แก่ปอมฯ ที่มีพื้น คือ สีทอง แดงหรือส้ม และมีสีดำแซมอยู่ทั่วทั้งตัว



จุดบกพร่อง :

1. กะโหลกกลม โหนกนูน ฟันล่างยื่น (UNDERSHOT MOUTH) หรือฟันบนยื่นจนเกินไป (OVERSHOT MOUTH)

2. ข้อเท้าราบกับพื้นมากเกินไป

3. ขาหลังที่หัวเข่าชิดกัน ปลายเท้าชี้ออก (COWHOCKS) หรือขาหลังที่บกพร่อง

4. ขนที่นิ่ม เหยียดตรงและแยกออกจนเห็นผิวหนังข้างใน (OPEN COAT)


แหล่งอ้างอิง:http://women.sanook.com/pets/breed/dogs.php












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น