วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals)




กระจงควาย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Greater Mouse Deer

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Tragulus napu



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

จัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องกีบคู่ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกวาง แต่ทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่มีเขา กระจงตัวผู้จะมีเขี้ยวบนยาวเลยริมฝีปากบนลงมา เมื่อโตเต็มวัย สูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 3.6-6.0 กิโลกรัม ขนบนตัวสีน้ำตาลออกเทาและมีจุดสีเข้มกว่ากระจายอยู่ทั่วไป ที่ใต้คอและบนหน้าอกมีแถบสีขาวพาดตามยาว 5 เส้น





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบในพม่า อินโดจีน ไทย แหลมมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว

ชอบกินหญ้าอ่อน ผลไม้ป่า ยอดไม้ และใบไม้อ่อน



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยว นอกจากในฤดูผสมพันธุ์จึงจะอยู่เป็นคู่ เป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันจะหลบพักนอนตามหลืบหิน และโพรงไม้

ฤดูผสมพันธุ์ตกอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โตเต็มวัยพร้อมจะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 4-5 เดือน ระยะตั้งท้องนาน 5-6 เดือน หรือ 152-172 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์สงขลา











กระต่ายบ้าน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






European Rabbit

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Oryctolagus cuniculus



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ฟันหน้ามีอยู่ 4 ซี่เรียงซ้อนกันเป็น 2 คู่ โดยคู่หลังจะเล็กกว่าคู่หน้า ขาหน้ามี 5 นิ้ว แต่ขาหลังมีเพียง 4 นิ้ว ใต้อุ้งเท้ามีขนยาว และภายในกระพุ้งแก้มมีขนด้วย สำหรับกระต่ายบ้านนั้นมีเท้าสั้น ขนสั้น ลูกกระต่ายบ้านที่คลอดออกมาใหม่ ๆ ตัวแดงและไม่มีขนตาปิด ซึ่งแตกต่างจากกระต่ายป่า





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบที่ทวีปยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

กระต่ายกินผัก หญ้า และเปลือกไม้เป็นอาหาร



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์



กระต่ายบ้านสามารถผสมพันธุ์ได้บ่อย ตัวเมียตั้งท้องเพียง 1 เดือน ปีหนึ่งจึงสามารถออกลูกได้ 4-8 ครอก ลูกกระต่ายที่มีอายุราว 6-8 สัปดาห์จะแยกจากแม่ได้และมีอายุยืนราว 7-8 ปี



สถานภาพปัจจุบัน





สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา















กระทิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Guar

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Bos gaurus



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

กระทิงมีรูปร่างคล้ายวัว ขนสั้นเกรียนเป็นมันสีดำหรือแกมน้ำตาล ขาสีขาวนวลคล้ายสวมถุงเท้า บริเวณหน้าผากมีหน้าโพธิ์สีเทาปนขาวหรือปนเหลือง สันกลางหลังสูง มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาโค้ง โคนเขามีสีเหลือง ปลายเขาสีดำ ใต้ผิวหนังมีต่อมน้ำมันซึ่งน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย พม่า อินโดจีน มาเลเซียและไทย ในป่าเมืองไทยสามารถจำแนกได้ 2 สายพันธุ์ย่อย คือ Bos gaurus readei เป็นสายพันธุ์ที่พบทางป่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและอีสาน อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ Bos gaurus hubbachi พบทางภาคใต้และเทือกเขาตะนาวศรี

กระทิงชอบกินดินโป่ง หญ้า หน่อไม้ ใบไม้อ่อน และผลไม้ป่าบางชนิดเป็นอาหาร



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่อยู่ห่างไกล ทั้งป่าทุ่งหญ้าและป่าภูเขา ตามปกติไม่ดุร้ายเว้นแต่ถูกทำร้ายหรืออยู่ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงและไม่ชอบนอนแช่ปลักเหมือนควาย

กระทิงสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ตัวเมียตั้งท้องนาน 9 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีอายุยืน 25-30 ปี



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว











กวางป่า(กวางม้า) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Sambar Deer

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cervus unicolor



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

เป็นกวางขนาดใหญ่ ขนยาวหยาบมีสีน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณคอจะยาวขึ้นหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ลูกกวางป่าเกิดใหม่จะไม่มีจุดขาว ๆ ตามตัวเช่น ในลูกเนื้อทรายหรือกวางดาว หางค่อนข้างสั้น มีเขาเฉพาะตัวผู้ เขามีข้างละ 3 กิ่ง เขาที่ขึ้นครั้งแรกมีกิ่งเดียว เมื่อเขาแรกหลุดเขาที่ขึ้นใหม่ มี 2 กิ่ง เมื่อเขา 2 กิ่งหลุด เขาที่ขึ้นใหม่มี 3 กิ่ง ปีต่อไปเมื่อผลัดเขาใหม่จะมีเพียง 3 กิ่งเท่านั้น ไม่เพิ่มมากกว่านี้ ผลัดเขาทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม หรือ เดือนเมษายน เขาแก่ในเดือนพฤศจิกายน มีแอ่งน้ำตาที่หัวตาทั้ง 2 ข้าง ขนาดใหญ่มากยื่นออกมาให้เห็นชัดเจน ยิ่งในฤดูผสมพันธุ์แอ่งน้ำตานี้จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกและขับสารที่มีกลิ่นแรงมากออกมาซึ่งเป็นประโยชน์ในการดมกลิ่นตามหากัน เป็นสัตว์ที่มีหู ตา จมูกไวมาก





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล พม่า ไทย อินโดจีน จีนตอนใต้ มาเลเซีย สุมาตรา ชวา บอร์เนียว เซลีเบส ไต้หวัน ไหหลำ ฟิลิปปินส์ อัสสัม สำหรับประเทศไทย พบตามป่าดงดิบทั่วไปทุกภาคทั้งป่าสูงและป่าต่ำ

ชอบกินใบไม้ และยอดอ่อนของพืชมากกว่าหญ้า อาหารในธรรมชาติของกวางได้แก่ เถาวัลย์อ่อน ๆ ยอดอ่อนของไม้พุ่มเตี้ย ๆ ใบไม้ใบหญ้าที่เพิ่งผลิใบ ใบไผ่ และชอบกินดินโป่งมาก



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

ปกติชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว นอกจากฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินตั้งแต่ตอนเย็นถึงเช้าตรู่ ส่วนกลางวันจะนอนในที่รกทึบ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทั่วไปรวมทั้งป่าทึบ ชอบออกมาหากินอยู่ตามริมทาง ลำธาร และทุ่งโล่ง ชอบนอนแช่ปลักโคลนเหมือนกระบือเพื่อป้องกันแมลง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะดุร้ายและหวงตัวเมียมาก ช่วงนี้ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้ายเพื่อแย่งตัวเมีย ว่ายน้ำเก่งและปราดเปรียว มันไม่ชอบช้างและกลิ่นของช้าง

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัวในช่วงต้นฤดูฝน ลูกกวางจะเริ่มแยกจากแม่ไปหากินตามลำพังเมื่ออายุราว 1 ปีหรือ 1 ปีกว่า และโตกวางป่าพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 18 เดือน อายุยืนประมาณ 15-20 ปี



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา










กวางฟอลโลว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Fallow Deer

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Dama dama



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

เป็นกวางขนาดกลางมีกีบคู่ มีกระเพาะ 4 กระเพาะ มีเขาเฉพาะตัวผู้เขาแผ่ออกเป็นแผ่นแบนกว้าง หรือแผ่ออกเป็นรูปฝ่ามือ เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 2 ตัวผู้จึงจะเริ่มมีเขางอกขึ้นมาเป็นกิ่งต่าง ๆ ในปีต่อไป จึงเริ่มแตกกิ่งเพิ่มขึ้น ปีที่ 4 ปลายเขาเริ่มแตกเป็นแผ่นคล้ายเสียม หรือ พลั่วขุดดิน ปี่ที่ 6 - 7 เขาจะแตกแผ่เป็นแผ่นอย่างเต็มที่ จะผลัดเขาในฤดูใบไม้ผลิ ขนสีเทาแกมเหลืองสดในหน้าร้อน มีจุดขาวขนาดใหญ่อยู่กลางหลังและข้างลำตัว มีแถบสีดำทอดยาวจากกลางหลังไปถึงสะโพก ช่วงล่างลำตัวสีขาว ขนเรียบบางและแนบติดกับลำตัว หน้าหนาวขนจะมีสีน้ำตาลเทา จุดขาวตามลำตัวจะเลือนไปเห็นไม่ชัด และมีขนหยาบกร้านหนากว่าหน้าร้อน





ถิ่นอาศัย, อาหาร

เป็นสัตว์ดั้งเดิมของประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ ยุโรปใต้ เอเชียไมเนอร์ และปาเลสไตน์เหนือ ต่อมาได้มีการนำไปเลี้ยงในอังกฤษและอีกหลายประเทศ จัดว่าเป็นสัตว์กึ่งสัตว์บ้าน ที่พบว่าดำรงชีพแบบสัตว์ป่าแท้ๆ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่พบได้ตามสวนสัตว์เท่านั้น ในอนาคตจะเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

หญ้าเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ก็กินใบไม้ หน่อพืชอ่อน ๆ



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

เป็นสัตว์ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง หน้าร้อนตัวผู้ที่โตเต็มที่จะแยกตัวออกไป ทิ้งให้ตัวเมียและตัวผู้อายุน้อยอยู่รวมกันในฝูง เป็นสัตว์ที่ตาไวมาก หู จมูกก็เฉียบไว ตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อนำมาเลี้ยงจะเชื่อง

ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะเข้ามาติดพันตัวเมียและมีการต่อสู้กันระหว่างตัวผู้ ลูกออกมา 2 - 3 สัปดาห์แรกจะหลบซ่อนตัวในพงหญ้าที่รกทึบ หลังจากนั้นจะวิ่งตามตัวอื่นในฝูง กวางฟอลโลว์จะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 18 เดือน ตัวเมียที่ตั้งท้องจะแยกตัวออกห่างจากฝูงและจะตั้งท้องอยู่นาน 230 วัน



สถานภาพปัจจุบัน





สถานที่ชม

สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา



 
 
 



เก้ง(อีเก้ง หรือ ฟาน) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Barking Deer (Common Barking Deer)(Red Muntjak)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Muntiacus muntjak



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

เป็นกวางขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 14-18 กิโลกรัม ตัวผู้มีเขาสั้น ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และมีแขนงเล็ก ๆ แตกออกข้างละสองกิ่ง ตัวเมียไม่มีเขา ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง มีต่อมน้ำตาขนาดใหญ่และแอ่งน้ำตาลึก ตัวผู้มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกริมฝีปาก ใช้สำหรับป้องกันตัว ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว และจะค่อยจางหายไปเมื่อมีอายุได้ราว 6 เดือน





ถิ่นอาศัย, อาหาร

ศรีลังกา อินเดียภาคใต้ จีนตอนใต้ พม่า มาเลเซีย อินโดจีน สุมาตรา ชวา บอร์เนียว หมู่เกาะซุนดา และทุกภาคของประเทศไทย

เก้งกินใบไม้อ่อน หน่อไม้อ่อน มะขามป้อม และมะม่วงป่า



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

มักชอบอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียวตามพงหญ้าและป่าทั่วไป เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ เป็นสัตว์ออกหากินตอนเย็นและเช้าตรู่ กลางวันหลับนอนตามพุ่มไม้ เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้อง "เอิ๊บ-เอิ๊บ-เอิ๊บ" คล้ายเสียงสุนัขเห่า และเป็นสัตว์ที่กระหายน้ำเก่ง

เก้งเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุปีครึ่ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา





 
 



เก้งเผือก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Albino Common Barking Deer

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Muntiacus muntjak



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

เหมือนเก้งธรรมดาแต่มีสีขาวปลอดทั้งตัว





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบในอินโดจีน อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ ศรีลังกา อินเดีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค

เก้งเผือกกินหญ้า ใบไม้ และผลไม้



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

ปกติชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว หากินตอนเย็นถึงเช้าตรู่ กลางวันหลบนอนตามพุ่มไม้ ปราดเปรียว เวลาตกใจจะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า

เก้งเผือกเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาว ตั้งท้องนาน 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว อายุยืนราว 15 ปี



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต



 
 
 



เก้งหม้อ(เก้งดำ หรือ เก้งดง) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Fea's Muntjac(Fea's Barking Deer)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Muntiacus feae



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

เป็นกวางขนาดเล็ก ใหญ่กว่าเก้งเล็กน้อย ลำตัวยาว 88-100 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ลำตัวซีกบนสีน้ำตาลแก่ ซีกล่างสีน้ำตาลปนขาว หางสั้นซีกบนเป็นสีดำเข็ม ซีกล่างของหางสีขาวตัดกันสะดุดตา มีเขาเฉพาะในตัวผู้ เขามีข้างละ 2 กิ่ง แต่ไม่สวยงามเท่าเก้ง ต่อมน้ำตาใหญ่มาก มีแอ่งน้ำตาใหญ่ ผลัดเขาทุกปี ยกเว้นตัวผู้ที่แก่มากๆ เขาอาจอยู่ได้นานถึงสองปีกว่า





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบทางภาคใต้ของประเทศไทย เทือกเขาตะนาวศรี และตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่า

อาหารที่กินได้แก่ ใบไม้ ใบหญ้า ผลไม้บางชนิด หน่ออ่อนของต้นไม้ โดยเฉพาะหญ้าระบัดจะชอบมาก



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบสูงๆ ที่เป็นป่าดงดิบไม่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชอบอยู่กลุ่มละ 2 - 3 ตัว แต่โดยปกติแล้วชอบอยู่ลำพังตัวเดียว ออกหากินตอนเช้าตรู่ พลบค่ำและตอนกลางคืน โดยจะออกมาหากินตามทุ่งโล่ง ชายป่า ท้องนา แถวที่มีลูกไม้ป่า ชอบกินดินโป่ง

เก้งหม้อมีระยะตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์สงขลา







สัตว์สงวน









ค่างดำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Banded Langur

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Presbytis melalophos



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

ค่างดำมีสีเปลี่ยนแปลงได้มาก มีตั้งแต่สีดำจนถึงสีน้ำตาลไหม้จนถึงสีเทาอ่อน และสีน้ำตาลอ่อน และบางครั้งอาจพบค่างดำมีสีออกขาวด้วยก็ได้ สีด้านล่างปกติอ่อนกว่าสีด้านบนเล็กน้อย บางตัวอาจมีสีออกขาวที่หน้าอก ด้านในของขามีสีขาวเห็นเด่นชัด จากโคนขาด้านในขาวมาถึงเข่า และบางตัวอาจขาวเลยมาถึงข้อเท้า ด้านล่างของหางสีอ่อนกว่าด้านบน ริมฝีปากบนและล่างมีขอบขาว แต่วงแหวนขาวรอบตาเห็นไม่เด่นชัดเหมือนอย่างค่างแว่น มีขนแหลมยาวเป็นสันบนหัว และตั้งขึ้นจนดูคล้ายจุก ลูกเกิดใหม่มีสีเข้มที่แนวสันหลังและที่ไหล่





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบในพม่า ไทย มาเลเซีย สุมาตรา และ บอร์เนียว สำหรับประเทศไทยพบตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและทางภาคใต้ เคยพบมากที่จังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี

ชอบกินใบไม้ ผลไม้ และแมลง



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

พบตามป่าทั่วไป หรือป่าชายฝั่งทะเล และป่าชายฝั่งที่เป็นที่ลุ่มต่ำ อยู่ตามสวนยางและชอบออกมากินข้าวตามทุ่งนาใกล้ ๆ สวน ค่างดำชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ 5 - 6 ตัว นาน ๆ ถึงจะพบค่างดำอยู่ตัวเดียว

ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของค่างดำ เข้าใจว่าคงเหมือนค่างชนิดอื่น ๆ ทั่วไป



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา













ค่างเทา(ค่างหงอก) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม






Silvered Langur

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Presbytis cristatus



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทั่วไป

ขนส่วนด้านหลังของลำตัวมีสีเข้มเป็นสีเทาดำ แต่ปลายขนสีขาวจึงทำให้มองดูคล้ายสีเทาเหลือบเงิน ส่วนด้านหน้าของลำตัวคืออก ท้องและขาขนมีสีเทาอ่อน ที่หัวมีขนแหลมตรงกลางพุ่งขึ้น ขนด้านข้างของหน้ายาวพุ่งตรงออกด้านข้าง ใบหน้าและมือเท้าสีเทาดำ ไม่มีวงตาขาว ปากบาง ผิวหนังบางส่วนเช่นโคนขาด้านในด่างขาว ลูกค่างเกิดใหม่จะมีขนสีขาวที่หลังมือ,เท้า และตามร่างกาย น้ำหนักตัวประมาณ 6.8 กิโลกรัม ความยาวลำตัวประมาณ 493-570 มิลลิเมตร หางยาว 725-840 มิลลิเมตร





ถิ่นอาศัย, อาหาร

พบในพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศไทยมีตามป่าดงดิบทุกภาค

อาหารได้แก่ ใบไม้และตาอ่อนของพืช แมลง



พฤติกรรม, การสืบพันธุ์

อาศัยในป่าทึบและป่าดงดิบทั่วไป ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้สูงๆ อาศัยอยู่เป็นฝูง ๆ ละ 10-40 ตัว ค่างเทาที่อายุมากแล้วมักแยกตัวไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่รวมฝูงอยู่ด้วยกัน หากินตอนกลางวัน ส่วนใหญ่หากินบนต้นไม้ มีการใช้เสียงแตกต่างกันหลายระดับในการสื่อความหมาย แม้ว่าค่างเป็นสัตว์สังคมแต่ในฝูงจะมีการจัดลำดับชั้นทางสังคมกันน้อยมาก

ค่างเทาเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 3-4 ปี ระยะตั้ง ท้องนาน 196 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว



สถานภาพปัจจุบัน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535



สถานที่ชม

สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา







แหล่งที่มา:http://www.moohin.com/animals/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น